Sponsor
เรียนรู้ขั้นตอนและพิธีการแต่งงานแบบไทย
ตามธรรมเนียมประเพณีไทย หลังจากที่ชายหญิงตกลงที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว ก่อนอื่นฝ่ายชายต้องส่งผู้ใหญ่ ( อาจจะเป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ ) ไปทาบทามพูดคุยสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงซ่ะก่อน โดยส่วนใหญ่การพูดคุยนี้ก็จะเป็นการขอลูกสาวไปเป็นสะใภ้ของบ้านตน โดยมีการตกลงเรื่องสินสอด เรือนหอ ตลอดจนการหาฤกษ์ยาม
เมื่อคู่บ่าวสาวได้ฤกษ์ยามวันมงคลแล้ว ก็จะเข้าสู่การตระเตรียมพิธีการต่างๆ โดยการแต่งงานแบบไทยในสมัยปัจจุบันนี้ จะมีการรวบทั้งพิธีหมั้นและแต่งงานในวันเดียวกัน เพื่อความสะดวกและประหยัด แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีไทยเอาไว้ โดยขั้นตอนพิธีการต่างๆ มีดังนี้
1.พิธีสงฆ์
เป็นพิธีการทางศาสนาที่สำคัญ เพราะถือเป็นการสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่คู่บ่าวสาว
ปัจจุบันพิธีการนี้สามารถทำได้ตามความสะดวกของบ่าวสาว โดยอาจจะเลือกทำในช่วงเช้า คือมีการทำบุญตักบาตรและถวายสังฆทาน หรืออาจเป็นช่วงสายหลังพิธีการสู่ขอและนับสินสอด โดยจะมีถวายสังฆทานและภัตตาหารเพล จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญชัยมงคล พร้อมประพรมน้ำมนต์เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตคู่ของบ่าวสาว
credit picture: postjung.com
2.พิธีการแห่ขันหมาก
ขบวณขันหมากในปัจจุบันจะประกอบไปด้วยขันหมากหมั้นและขันหมากแต่ง ซึ่งภายในจะบรรจุไปด้วยของมีค่าที่ใช้เป็นสินสอดทองหมั้น และของมงคลต่างๆ จากนั้นจะทำการแห่ขบวนขันหมากซึ่งนิยมนำหน้าด้วยกลองยาว ที่บรรเลงดนตรีสลับรับกับเสียงโห่ร้อง เพื่อสร้างบรรยากาศสนุกสนานให้แก่ขบวณ โดยจะมีการโห่ร้องเต้นรำกันไปจนถึงหน้าบ้านของฝ่ายเจ้าสาว
3.พิธีกั้นประตูเงินประตูทอง
เมื่อขบวนขันหมากมาถึงประตูบ้านเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวจะส่งเด็กและญาติพี่น้องออกมากั้นขบวน โดยจะนำสร้อยเงินทอง เข็มขัดทอง มาใช้แทน เชือกกั้น ซึ่งส่วนใหญ่นิยมกั้นแค่ 3 ประตู คือ ประตูชัย(ประตูนาก) ประตูเงินและประตูทอง จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำหน้าที่จ่ายเงินให้
4.พิธีปลูกต้นกล้วยต้นอ้อย
เมื่อขบวนขันหมากเข้าไปในบ้านเจ้าสาวแล้ว ผู้ที่ถือต้นกล้วยและต้นอ้อยจะไม่ยอมมอบให้กับฝ่ายเจ้าสาวโดยง่าย โดยจะมีการพูดหยอยล้อเพื่อเป็นสีสันให้กับงาน เช่น
“บ้านนี้น้ำสมบูรณ์พอปลูกกล้วยปลูกอ้อยให้เจริญเติบโตได้ไหม แล้วน้ำที่ปลูกมีมากน้อยแค่ไหน” ซึ่งผู้ถือจะพูดจนกว่าฝ่ายเจ้าสาวจะยอมมอบน้ำให้ ซึ่งน้ำที่ผู้ถือต้องการมากที่สุดคือ สุรา นั้นเอง
เมื่อผู้ถือได้รับในสิ่งที่ตนต้องการ ก็จะทำหน้าที่ในการปลูกกล้วยอ้อยให้คู่บ่าวสาวเลย แต่สำหรับผู้ใหญ่บางคน ก็ถือว่าคนปลูกกล้วยปลูกอ้อย จะต้องเป็นคู่บ่าวสาวเท่านั้น
5.พิธีรับขบวนขันหมาก
เมื่อขบวนผ่านประตูต่างๆ เข้ามาด้านในแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะส่งเถ้าแก่และเด็กยกพานหมากพลู บุหรี่ และไม้ขีดไฟ เพื่อออกมาต้อนรับและพูดเจรจา จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายชายจะรับพานหรือหยิบหมากพลู บุหรี่ ก่อนส่งคืนให้เด็กพร้อมกับซองเงิน เด็กก็จะเดินนำขบวณไปยังที่ประกอบพิธีที่ฝ่ายหญิงจัดเตรียมไว้ให้
6.พิธีรับเจ้าสาว
หลังจากที่มีการเจรจาต้อนรับขบวณขันหมากแล้ว ก็เป็นขั้นตอนที่เจ้าบ่าวจะไปรับตัวเจ้าสาวเพื่อพามาประกอบพิธีในขั้นต่อไป
7.พิธีการสู่ขอและนับสินสอด
เถ้าแก่ฝ่ายชายจะเริ่มพิธีการโดยเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนและพูดจาการมาสู่ขอฝ่ายหญิงด้วยเงินสินสอดทองหมั้นตามที่ตกลงกัน โดยเถ้าแก่และผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะทำการตรวจนับสินสอด นอกจากนี้เครื่องประดับต่างๆ เถ้าแก่จะให้ว่าที่เจ้าบ่าวทำการสวมให้ฝ่ายหญิง ต่อหน้าทุกคนเพื่อให้เป็นสักขีพยาน
8.พิธีรับไหว้
คู่บ่าวสาวจะยกพานธูปเทียนแพและของรับไหว้ ไปกราบพ่อแม่ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัว จากนั้นผู้ใหญ่จะรับไหว้และให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตคู่ พร้อมยื่นซองเงินหรือของมีค่าลงบนพาน เพื่อเป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัวในอนาคต
9.พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์
เมื่อถึงฤกษ์ที่กำหนดคู่บ่าวสาวจะนั่งบนตั่งที่จัดไว้ โดยฝ่ายหญิงจะนั่งทางซ้าย ฝ่ายชายจะนั่งทางขวา ในท่าพนมมือ โดยมีเพื่อนบ่าวสาวฝ่ายละ 2 คนยืนด้านหลัง จากนั้นจะเชิญประธานหรือพ่อแม่ของทั้งคู่จะสวมมาลัยและมงคลแฝดพร้อมกับเจิมที่หน้าผาก และเริ่มพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้พร เมื่อเสร็จพิธีเรียบร้อยแล้ว จะเชิญญาติผู้ใหญ่ที่บ่าวสาวให้ความเคารพ มาปลดมงคลออกพร้อมกัน แล้วมอบให้คู่บ่าวสาวเพื่อนำไปเก็บไว้เป็นสิริมงคล
10.พิธีปูที่นอนและส่งตัวเข้าหอ
การปูที่นอนนั้น จำเป็นที่บ่าวสาวจะต้องใช้อุปกรณ์เครื่องนอนทั้งแต่ที่นอน หมอน ผ้าปูที่นอนเป็นของใหม่ทั้งหมด เพราะถือเป็นสิริมงคลแก่การเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของทั้งคู่
พิธีการนี้จะเลือกคู่สามีภรรยาที่ครองรักกันมายาวนาน เคารพให้เกียรติกัน และมีลูกมีหลานที่ประพฤติตัวดีมาทำการปูที่นอนให้บ่าวสาว เพื่อความเป็นมงคลของชีวิตคู่ นอกจากนี้พิธีการปูที่นอนนี้จะต้องมีของมงคลวางไว้ข้างที่นอน ได้แก่ ฟักเขียว หินบดยา แมวคราว เมื่อได้เวลาส่งตัว เถ้าแก่ พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะให้โอวาทและอวยพรแก่บ่าวสาว
ขั้นตอนพิธีการต่างๆ นี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลำดับก่อนหลัง โดยยึดตามประเพณีของแต่ละครอบครัว และตามความเหมาะสมของฤกษ์ยาม ดังนั้นว่าที่บ่าวสาวควรจะต้องปรึกษาผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อความราบรื่นในการประกอบพิธี